สาวเรียนมหาวิทยาลัย เลี้ยงปูนาในภาชนะต่อยอดขายพ่อแม่พันธุ์ขาย พร้อมแปรรูปเป็นอาหาร น้ำพริกเผาปู ส่งขายภายในประเทศ และต่างประเทศ ต้นตำรับการเลี้ยงปูนา ใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มีรายได้ระหว่างเรียน
(คลิปในข่าว)
ทั้งนี้ นางสาวสุธิดา สุขวิเศษ กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม เปิดเผยว่า ที่บ้านจะมีสวนมะนาวซึ่งมีปูนามาอาศัยอยู่เยอะมาก และไปพบปูอยู่ตามคันนาโดนยาเบื่อ ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงจับมาประมาณ 10 ตัว ใส่บ่อดินเลี้ยงที่สวนไว้ ผ่านไปประมาณ 3 เดือน ได้จ้างคนงานมาดูดน้ำออกเพื่อจะจับปลาขาย พบว่ามีปูแพร่พันธุ์จำนวนมาก จึงได้จับมาทดลองเลี้ยงในลองปูนซีเมนต์ แต่ด้วยไม่มีความรู้การเลี้ยงมาก่อน ลองผิดลองถูกหลายครั้ง นำมามาเลี้ยงในลองซีเมนต์ก่อน ช่วงแรกมีการตายหลายตัว ขาหลุด ก้ามหลุด จึงทดลองแบ่งจำนวนปูให้น้อยลงประมาณลองละกว่า 10 ตัว พบว่าตายน้อยลง และทดลองนำกระเบื้อง อิฐ ใส่ลงไปเพื่อให้มีที่หลบอาศัย เปลี่ยนน้ำทุกวันทำให้ปูมีความสะอาด กระดองสวยใส ที่สำคัญปูนาที่จับมาใหม่ ๆ จะมีพยาธิและปลิงเกาะอาศัยตามตัวมาด้วย แต่พอนำมาเลี้ยงในภาชนะ และมีการเปลี่ยนน้ำทำความสะอาด ก็ไม่มีการพบพยาธิ และปลิง ส่งผลดีต่อการเลี้ยงปูนาของฟาร์มเพื่อนำมาเป็นอาหาร
โดยหลังจากได้ทดลองเลี้ยงปูนามาแล้วระยะหนึ่งทำให้ลูกค้าทั่วไปทั้งคนไทยมีความสนใจเข้ามาซื้อถึงที่ฟาร์ม เช่น ก้ามปูจะขายอยู่ในราคาประมาณ 600 - 800 บาท ส่วนกระดองปูที่มีมันปูติดอยู่ขายประมาณกิโลกรัมละ 50 บาท โดยจะมีแม่ค้านำไปทำอ่องปูนาขายตามร้านอาหาร เป็นเมนูที่ได้รับความสนใจ โดยจะนำมันปูที่ปรุงรสแล้วใส่ลงในกระดองปูแล้วนำไปย่างให้สุก จากนั้นจะนำข้าวเหนียวมาจิ้มรับประทาน เป็นอาหารที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากปูที่ฟาร์มมีการเลี้ยงที่สะอาดปลอดภัย ไม่มีสารพิษตกค้าง เพราะการเลี้ยงดูแลใช้ผลไม้ เช่น กล้วยน้ำว้า มะละกอ มาหั่นให้ปูนากิน มีอาหารปลาดุกให้กินเล็กน้อย
ตอนนี้ที่ฟาร์มมีการเลี้ยงรวม ๆ แล้วนับหมื่นตัว ปูมีหลายขนาดจะชอบซ่อนตัวในช่วงเวลากลางวัน จะออกมาหากินอาหารช่วงกลางคืน ส่วนหนึ่งเลี้ยงไว้ในบ่อดิน ช่วงที่เวลาจับมาไว้ที่ฟาร์มก็จะให้ปรับสภาพความเป็นอยู่จากเคยอยู่บ่อดินให้มาอยู่ในน้ำประปาใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ จากนั้นจึงนำขายให้ลูกค้าต่อไป โดยจะต้องเลือกลักษณะ สี ความแข็งแรง ของปูแต่ละตัว ซึ่งปูที่จะนำไปขายให้ลูกค้าเลี้ยงเป็นพ่อแม่พันธุ์จะต้องมีสีที่กระดองเข้ม จะมี 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์กำแพง และสายพันธุ์พระเทพ ลักษณะคล้ายกัน ความมันเหมือนกัน แต่จะมีความแตกต่างที่สีคือ พันธุ์กำแพงจะออกเป็นสีน้ำตาลแดง แต่พันธุ์พระเทพจะมีสีม่วงเข้ม เป็น 2 สายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมเลี้ยงและบริโภค หลังนำไปเลี้ยงได้ประมาณ 2-3 อาทิตย์ก็จะเริ่มไข่แล้ว จากนั้นก็จะออกลูกน้อยออกมา
สำหรับด้านตลาดมีการส่งขายพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อจำหน่ายส่งให้ลูกค้าทั่วประเทศ เช่น ตัวปูนาที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ มีการขนส่งทางรถไฟ รถทัวร์ รถตู้โดยสาร ส่วนผลิตภัณฑ์แปรรูปส่งจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย
นางสาวสุธิดา สุขวิเศษ กล่าวอีกว่า ช่วงแรก ๆ ปูตายได้นำมาทำน้ำหมัก ต่อมาได้มีแนวคิดต่อยอดออกไปคือ คุณยายมีอาชีพตำน้ำพริกปลาย่างขาย จึงคิดนำปูนามาแปรรูปผสมลงในน้ำพริกที่คุณยายทำ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากัน จึงเปลี่ยนน้ำพริกปลาย่างสมัยก่อนที่คุณยายทำให้กลายมาเป็นน้ำพริกปูย่างขายแทน ทดลองเริ่มแรกทำแค่ 2 กิโลกรัมก่อน แล้วนำไปแจกให้เพื่อน ๆ และให้คนมาเที่ยวที่ฟาร์มลองชิม ช่วงแรกมีการตอบกลับมาว่ายังคงเจอเปลือกปูนาหลงเหลืออยู่ในน้ำพริกบ้าง จึงหันมาใช้ปูที่บริเวณช่วงหน้าอกเท่านั้น ส่วนกระดอง ก้าม หน้าท้องปู จะแกะออกไปหมด โดยนำไปย่างพร้อมมันปูมีกลิ่นหอม จากนั้นนำมาตำใส่ครกหินให้พอละเอียด นำไปคั่วอีกครั้ง แล้วนำมาตำอีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญการตำปูนาจะใช้ครกหินเท่านั้นไม่ได้ผ่านเครื่องปั่นแต่อย่างใด จึงมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของเนื้อปูผสมอยู่ด้วย ทำให้ยอดส่งน้ำพริกเผาปูย่างขณะนี้เริ่มแรกจาก 2 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 100 กิโลกรัมต่อ 1 อาทิตย์ ส่วนถัดมาเป็น น้ำพริกสวรรค์ปู ปลา คล้ายกับน้ำพริกนรก จะมีเนื้อปลาช่อนทะเลเป็นส่วนผสมร่วมกับเนื้อปูด้วย อย่างลูกค้าทางใต้จะชอบสั่งรับประทานมาก ขายกระปุกละ 30 บาท ส่วนสินค้าล่าสุดเพิ่งเปิดตัวเมื่อเดือนที่แล้วคือ ผงโรยข้าวแบบญี่ปุ่น เนื่องจากแม่ของตัวเองเคยเป็นกุ๊กญี่ปุ่นมาก่อนเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เลยคิดลองทำผงโรยข้าวแบบญี่ปุ่นขึ้น มีส่วนประกอบง่าย ๆ คือ งาขาว งาดำ เนื้อปู สาหร่าย เนื้อปลา และโชหยุ่ ขายกระปุกละ 100 บาท รสชาติออกมัน หอมหวาน เค็ม มีสารไคโตซานสูงมาก จะอยู่ในเปลือกปูมีประโยชน์ต่อร่างกาย และยังไม่ใส่สารกันบูดด้วย ขอบอกต้องลองรับประทานแล้วจะรู้ว่าอร่อยแค่ไหน ยอดการขายดีมากมีการสั่งซื้อทั่วประเทศและยังมีการสั่งซื้อจากต่างประเทศด้วย
เนื่องจากปูของทางภาคกลางจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าภาคอื่น ๆ ที่มีการเลี้ยง มีการสั่งพ่อแม่พันธุ์ แต่ละครั้ง 100 - 200 คู่ ขาย คู่ละ 60-80 บาท บางคนจะมารับที่ฟาร์มเพราะจะได้มาศึกษาวิธีการเลี้ยงอีกทางหนึ่ง ถือเป็นเจ้าแรกของการเลี้ยงปูนาที่ประสบผลสำเร็จของราชบุรี ซึ่งมีมาตรฐานการเลี้ยงที่ปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดได้เข้ามาศึกษา พร้อมให้ไปเป็นวิทยากรแนะนำบอกเล่าการเลี้ยงปูนา เพื่อเป็นแนวทางให้กับชาวบ้านที่สนใจ เพราะเป็นอาชีพที่ไม่ต้องลงทุนมากนัก
สำหรับเกษตรกรที่สนใจและอยากเลี้ยงปูนาขายง่าย ๆ ลงทุนน้อยคือ หาภาชนะที่มีในท้องถิ่น เช่น กะละมัง หรือลองซีเมนต์ราคาไม่แพงเพียงหลักร้อยบาท สูงสุดไม่เกิน 200 บาท สามารถเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวได้ หรืออยากจะมาเที่ยวชม ที่ฟาริดาฟาร์มปูนา หรือ สามารถโทรศัพท์สอบถามได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 099-0083597 ได้ทุกวัน
/////////////////////////////////////////
ภาพ/ข่าว : #ทีมข่าวสมาคมสื่อมวลชนราชบุรี
ติดตามข่าวสารในจังหวัดราชบุรีได้ที่ : https://www.facebook.com/groups/1872087123081525/
/////////////////////////////////////////////////////////////
สาวเมืองคนงาม วัย 22 ปี เลี้ยงปูนาสร้างรายได้ระหว่างเรียน
Reviewed by ไชโยราชบุรี
on
กรกฎาคม 09, 2561
Rating: