เกษตรกรใน ต.หนองพันจันทร์ อ.บ้านคา จ.ราชบุรีได้นำสับประรด มามอบให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน อ.จอมบึง เพื่อเป็นอาหารสัตว์ ส่งผลดีเนื่องจากเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง จะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่สัตว์ป่า หลังประสบภาวะสับปะรดราคาตกต่ำ
วันที่ 22 มิ.ย.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า... นายศรคีรี บัวแจ้ง และนางสุนารี มีมาก อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 55/3 หมู่ 9 สองสามีภรรยา และครอบครัว ได้นำสับปะรดที่ไร่ของตนเองปลูกไว้ในพื้นที่ ต.หนองพันจันทร์ อ.บ้านคา จ.ราชบุรี ใส่รถยนต์กระบะประมาณ 1,000 กิโลกรัม นำมามอบให้กับนายบรรพต มาลีหวล หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง ต.ปากช่อง อ.จอมบึง จ.ราชบุรี และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน ต.รางบัว อ.จอมบึง อีก 1,000 กิโลกรัม เพื่อให้สัตว์ป่าได้กินเป็นอาหาร หลังราคาสับปะรดตกต่ำในรอบหลายสิบปี ผลผลิตล้นตลาด เกษตรกรไม่รู้จะเอาไปทำอะไร บางรายได้นำไปแจกให้แก่วัด และโรงเรียน หรือ เพื่อนๆที่รู้จัก แต่ด้วยผลผลิตที่มาก หากปล่อยให้สุกคาต้นก็จะเน่าไม่มีประโยชน์
(คลิปในข่าว)
ทั้งนี้ตนเองขอเป็นตัวแทนฝากถึงภาครัฐให้ช่วยเหลือ เรื่องสับปะรดผลสดทางเกษตรกรขายได้อยู่แล้ว แต่เนื่องจากสับปะรดโรงงานรับซื้อของเกษตรกรไม่ได้ เนื่องจากมีออเดอร์ต่ำลง ทำให้รับซื้อชาวไร่ได้ไม่ได้มากนัก พอส่งออกไม่ได้ ผลิตไม่ได้ ทางสับปะรดโรงงาก็ต้องมาตีตลาดสับปะรดกินผลสด จึงทำให้เกษตรกรที่ปลูกสับปะรดกินผลสดจะย่ำแย่ลงทุกวันๆ เหมือนมาแย่งขายกันเอง อยากให้ภาครัฐช่วยกระตุ้นการส่งออกพืชผลสับปะรดด้วย หากมีการส่งออกดีขึ้นก็จะทำให้ผลผลิตราคาดีขึ้น ซึ่งทางกลุ่มแม่ค้าก็จะให้เกรดราคาที่ขายเหมือนกับที่โรงงานได้ตั้งไว้เหมือนกัน ถ้าโงงานซื้อแพง ทางแม่ค้าก็จะได้ราคาแพงเช่นกัน ซึ่งอาจจะได้ราคาแพงกว่าโรงงานนิดหน่อยประมาณ 1-2 บาท ถ้าโรงงานซื้อขึ้นและมีการส่งออกได้ดี จะทำให้ผลผลิตดี โดยราคาประมาณ 5 บาท ทางแม่ค้าก็จะพออยู่ได้ แม่ค้าก็จะไปดีดราคาขึ้นประมาณ 1-2 บาท เช่น เกษตรกรขายให้แก่โรงงานในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ทางแม่ค้าก็จะปรับราคาขึ้นเล็กน้อยประมาณ 1-2 บาท ต่อกิโลกรัม เป็นราคาประมาณ 6-7 บาท เป็นต้น ขณะที่ปัจจุบันนี้โรงงานรับซื้ออยู่ประมาณกิโลกรัมละ 2 บาท ส่วนแผงร้านค้าขายกิโลกรัมละ 1 บาทเศษ และจะต้องติดต่อล่วงหน้าก่อนอีกด้วย ในการจะนำผลผลิตเข้าไปขายให้โรงงาน โดยปัญหาราคาสับปะรดคิดว่าคงไม่ได้ย่ำแย่ทุกปี มันน่าจะมีอะไรดีขึ้นมาบ้าง แต่หากอีก 2 ปี ไม่ดีขึ้น ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาคิดว่าเกษตรกรไทยจะย่ำแย่ลงจนตาย
อย่างไรก็ตามจากการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ทราบว่า ว่าในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างมีสัตว์ประมาณ 63 ชนิด กว่า 500 ตัว มีสัตว์หลายชนิดที่กินสับปะรดได้ เช่น เก้ง กวาง เม่น หมี ลิง ละอง ละมั่ง อูฐ ลิง นก ไก่ฟ้า เป็นต้น สำหรับสับปะรดเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสัตว์ป่ามากและเป็นที่ชื่นชอบของสัตว์ป่าด้วย อีกทั้งมีรสชาติเมื่อสุกแล้วจะหวาน มีวิตามินซีสูง สามารถช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันโรคให้แก่สัตว์ป่าได้อีกทางหนึ่ง นอกเหนือที่ทางเจ้าหน้าที่ของสถานีฯจะให้กินวิตามินเพื่อเสริมให้แก่ร่างกายอยู่เป็นประจำแล้ว แต่ทั้งนี้จะต้องมีการคัดเลือกผลที่ค่อนข้างฉ่ำนำมาให้กินก่อน เนื่องจากหากเป็นผลไม่สุกมาก จะทำให้กัดลิ้น และการให้กินก็จะต้องดูประเภทของสัตว์ป่าด้วย หากเป็นสัตว์ปีกจะหั่นเป็นลูกเต๋าสี่เหลี่ยม จะได้จิกกินง่าย แต่หากเป็นสัตว์ใหญ่ เช่น อูฐ กวาง เก้ง จะสับผ่าให้กินเป็นชิ้นๆเพื่อง่ายต่อการเคี้ยวและระบบการย่อยอาหารของสัตว์แต่ละชนิดด้วย ส่วนผลที่ยังไม่สุกเต็มที่ก็ยังสามารถเก็บไว้ให้สัตว์ได้กินต่อไปได้
/////////////////////////////////////////
ภาพ/ข่าว : #ทีมข่าวสมาคมสื่อมวลชนราชบุรี
ติดตามข่าวสารในจังหวัดราชบุรีได้ที่ : https://www.facebook.com/groups/1872087123081525/
/////////////////////////////////////////////////////////////
2 สามีภรรยา มอบสับปะรดให้เป็นอาหารสัตว์ป่า
Reviewed by ไชโยราชบุรี
on
มิถุนายน 22, 2561
Rating: