พล.พัฒนาที่ 1 แถลงการดำเนินการโครงการนำร่อง แก้ไขปัญหาการปล่อยน้ำทิ้งของฟาร์มสุกร


เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 9 ก.ค.61 นายวิสิษฎ์  พวงเพชร  รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี พ.อ.มาโนชญ์   รัตนเลขา  รองผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 1  และพ.ท.ธนิศร ลิ่มมั่น ผู้บังคับการ พันพัฒนาที่ 1  ได้แถลงความคืบหน้าในการเข้ามาแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากฟาร์มสุกรที่ลงบ่อน้ำสาธารณะ ของชาวบ้านดอยดิน หมู่ 2 ต.ห้วยไผ่ อ.เมือง จ.ราชบุรี ภายใต้โครงการนำร่องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการปล่อยน้ำทิ้งของฟาร์มสุกร 



ทั้งนี้ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2554 ปัญหาน้ำเสียจากฟาร์มสุกรที่ลงบ่อน้ำสาธารณะ ของชาวบ้านดอยดิน หมู่ 2 ต.ห้วยไผ่ อ.เมือง จ.ราชบุรี และหมักหมมมานานจนทำให้น้ำในบ่อนั้นเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น จนชาวบ้านไม่สามารถนำน้ำไปใช้ได้ และมีการร้องเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหามาตลอด  จนกระทั่งตอนนี้น้ำเสียดังกล่าวนั้นได้รั่วซึมลงไปยังน้ำบาดาล  ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำบาดาลได้ เพราะทางหน่วยงานนั้นได้ออกมาแจ้งเตือนว่า ในน้ำนั้นมีการปนเปื้อน จนก่อนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ประกอบการฟาร์มสุกร และประชาชนในพื้นที่เป็นระยะเวลายาวนาน


ทางกองพลพัฒนาที่ 1 จึงได้นำโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการปล่อยน้ำทิ้งของฟาร์มสุกร เข้ามาแก้ไขปัญหาในส่วนของน้ำบนดินก่อน โดยได้รับอนุมัติโครงการดังกล่าวจากผู้บัญชาการทหารบก และได้ใช้งบประมาณในการดำเนินการโครงการจากฟาร์มที่อยู่ภายในพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งใช้หลักการการเติมอากาศ และใส่ก้อนจุลลินทรีย์ลงไป หลังมีการทดลองทำแล้วได้ผลจึงได้นำมาปฎิบัติใช้จริงในพื้นที่  ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการหลายเดือน  เนื่องจากพื้นที่ของบ่อน้ำสาธารณะนั้นมีหลายบ่อรวมทั้งกว้างและลึก  หลังจากนั้นก็จะดำเนินการไปแก้ปัญหาในจุดอื่นๆ  ที่ชาวบ้านได้ร้องเรียนมาต่อไป โดยมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมาร่วมรับฟังการแถลงการดำเนินการโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการปล่อยน้ำทิ้งของฟาร์มสุกรในวันนี้ด้วย

       
โดยทางด้าน พ.อ.มาโนชญ์ รัตนเลขา รองผู้บัญชาการกองพลพัฒนาที่ 1 กล่าวว่า.. เรามาแก้ปัญหาให้กับประชาชน  เพราะพื้นที่ตรงนี้เหมาะกับการทำการทดลองในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำเสียที่เกิดจากฟาร์มหมู  และได้รับการอนุมัติมาจากผู้บัญชาการทหารบกให้มาแก้ปัญหาตรงนี้  และใต้บ่อแห่งนี้ซึ่งมีทั้งหมด 5 บ่อ  นั้นมีตะกอนและสารชนิดต่างๆ มากมายซึ่งเราจะต้องทำการขูดออกให้หมด  โดยเราได้ทำบ่อทดลองไว้แล้วในการสำรองน้ำ  และหลังจากที่เราได้ดำเนินการเสร็จ จนน้ำนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้  ก็จะมีการปรับพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวและทำเป็นตลาดให้ประชาชนมาท่องเที่ยว และมาพักผ่อนหย่อนใจ และให้เป็นการเชื่อมระหว่างชาวบ้านกับฟาร์มให้อยู่ร่วมกันได้


สำหรับโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการปล่อยน้ำทิ้งของฟาร์มสุกร พื้นที่ หมู่ที่ 2 บ้านห้วยไผ่ ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยกองพลพัฒนาที่ 1 เกิดขึ้นจากจังหวัดราชบุรี มีการเลี้ยงสุกรเป็นจำนวนมาก  ถือว่ามากที่สุดของประเทศ  และมีฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ อยู่จำนวน 350 ฟาร์ม ปัจจุบันมีการเลี้ยงสุกรกว่าสี่ล้านตัว ทำให้เกิดปัญหาระบบการจัดการฟาร์มที่ขาดความสมดุล ทั้งน้ำล้างฟาร์ม และมูลสุกรที่มีจำนวนมาก จนทำให้เกิดปัญหาน้ำทิ้งของฟาร์มสุกรรั่วไหลออกสู่พื้นที่สาธารณะ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ประกอบอาชีพทางการเกษตรของประชาชนบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ซับน้ำใต้ดินสภาพดินเป็นดินร่วนปนทราย  โดยเฉพาะพื้นที่โดยรอบ อุดมเดชฟาร์ม  หมู่ที่ 2 บ้านห้วยไผ่ ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี  ประชาชนไม่สามารถปลูกพืชได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ   ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบฟาร์ม ได้รับผลกระทบ 
     

เนื่องจากปัญหาดังกล่าว ได้สะสมมาเป็นระยะเวลานาน และยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และข้อขัดแย้งจากผลกระทบของการปล่อยน้ำทิ้งจากฟาร์มสุกร ทางกองพลพัฒนาที่ 1   ได้มีการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง  ได้นำเสนอโครงการนำร่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการปล่อยน้ำทิ้งจากฟาร์มสุกร  และผลกระทบระหว่างประชาชนกับฟาร์มสุกรให้ได้อย่างยั่งยืน  โดยนำหลักปรัชญา “เข้าใจ เข้าถึง  และพัฒนา” มาเป็นแนวทาง และเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สำหรับเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการฟาร์มสุกร  เพื่อให้ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบ และผู้ประกอบการฟาร์มสุกร  อยู่ร่วมกันได้ โดยไม่มีความขัดแย้ง พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน


โดยกำหนดหัวข้อศึกษาโครงการเพื่อการแก้ปัญหา ไว้ 4 ประการ คือ 1.เพื่อศึกษาการแก้ไขปัญหาน้ำทิ้งของฟาร์มสุกร  ให้นำกลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2.เพื่อศึกษาวิธีการฟื้นฟูและพัฒนาดินบริเวณโดยรอบฟาร์มสุกรให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างได้ผล 3.ศึกษาการนำมูลสุกร มาทำปุ๋ยให้ได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูงและมีต้นทุนต่ำ สำหรับใช้ในการเกษตร และ 4.น้อมนำศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน  โดยการส่งเสริมให้เกษตรกรเลือกพืช พันธุ์ไม้มาปลูก ในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม


นอกจากนี้ ทางกองพลพัฒนาที่ 1 ได้จัดศึกษาวิจัยสภาพน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีการปนเปื้อน เพื่อปรับปรุงคุณภาพให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ โดยทางกองพลพัฒนาที่ 1 ได้ดำเนินการขุดลอกตะกอนมูลสุกรจากก้นบ่อแหล่งน้ำสาธารณะชุมชน ที่เป็นสาเหตุน้ำเสียออกทั้งหมด และดำเนินการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสีย ด้วยการใช้ ลูกบอลชีวภาพ ซึ่งกองพลพัฒนาที่ 1 ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาขึ้น โดยใช้ในกระบวนการร่วมกับการใส่จุลินทรีย์หลากหลายสายพันธุ์ ควบคู่กับการใช้ เครื่องเติมอากาศแบบผิวน้ำ (surface aerator)
     

ซึ่งผลจากการทดลอง ณ ปัจจุบัน (วันที่ 7 ก.ค.61) คุณภาพของน้ำเสียมีแนวโน้มเป็นน้ำดี ที่น่าพึงพอใจเป็นอย่างมาก โดยจากตัวชี้วัด ใน 3 ประเด็น 1.ค่า ph จาก น้ำเสียจากเดิม = 8.0 ลดลง อยู่ในระดับ 7.2 (โดยค่าน้ำมาตราฐานทั่วไป คือ ค่า ph = 7.0) 2.ค่า ออกซิเจนในน้ำ เพิ่มขึ้น มีค่าเฉลี่ย 3.0 จากน้ำเสียเดิม ซึ่งมีค่า ออกซิเจนเพียง 0.15 (โดย ค่าออกซิเจนมาตรฐานทั่วไป อยู่ใน ช่วง  3-7 ) และ 3.สามารถทำให้น้ำเสียจากเดิมซึ่งสีค่อนข้าง“ดำเข้ม” เกิดการตกตะกอน ส่งผลให้ สีของน้ำเสีย ใสขึ้น อย่างเห็นได้ชัด 
 

ทั้งนี้โครงการนำร่องดังกล่าว ยังรวมถึงการศึกษาแก้ปัญหาเรื่อง ดิน สำหรับเพาะปลูกพืชเกษตร ของประชาชนรอบพื้นที่ฟาร์มอีกด้วย ซึ่งแต่เดิมไม่สามารถปลูกพืชได้ แต่จากการศึกษาทดลอง ร่วมกับส่วนราชการเกษตรที่เกี่ยวข้อง  สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจ ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น หญ้าเนเปีย และการปลูกข้าวโพด เพื่อการบริโภค หรือ เป็นอาหารสัตว์ ต่อไปได้อย่างดี  อีกทั้งสามารถดำเนินการพัฒนา การผลิตปุ๋ย จาก มูลสุกร เพื่อนำไว้ใช้เอง และผลิตเพื่อการค้าขายของเกษตรกรที่อาศัย ในพื้นที่ โดยรอบฟาร์มสุกรอีกด้วย
 
 
อย่างไรก็ดีโครงการนำร่องแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการปล่อยน้ำทิ้งของฟาร์มสุกร พื้นที่ หมู่ที่ 2 บ้านห้วยไผ่ ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี ได้มีเป้าหมายที่สำคัญ หลังจากการศึกษาจนประสบความสำเร็จดังกล่าว คือ การนำผลการศึกษามาเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนโดยรอบฟาร์มและผู้ประกอบกิจการฟาร์มสุกรในพื้นที่อื่นๆ  โดยสามารถอยู่ร่วมกัน เกื้อกูลกัน และไม่มีความขัดแย้ง ส่งผลดีต่อความเข้มแข็ง ยั่งยืน ของทุกชุมชน ตลอดไป นอกจากนี้หากผู้ประกอบฟาร์มใด หรือพื้นที่ใดต้องการนำโครงการดังกล่าวเข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาการปล่อยน้ำทิ้งของฟาร์มสุกร ก็สามารถต่อติดเข้าศึกษาโครงการดังกล่าวโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ได้ที่กองพลพัฒนาที่ 1 ค่ายศรีสุริยวงศ์ ต.ดอนตะโก อ.เมือง จ.ราชบุรี หรือโทร. 095-523-6209 พ.ท.ธนิศร ลิ่มมั่น ผู้บังคับการ พันพัฒนาที่ 1

/////////////////////////////////////////

ภาพ/ข่าว : #ทีมข่าวสมาคมสื่อมวลชนราชบุรี

ติดตามข่าวสารในจังหวัดราชบุรีได้ที่ : https://www.facebook.com/groups/1872087123081525/

/////////////////////////////////////////////////////////////












































พล.พัฒนาที่ 1 แถลงการดำเนินการโครงการนำร่อง แก้ไขปัญหาการปล่อยน้ำทิ้งของฟาร์มสุกร พล.พัฒนาที่ 1 แถลงการดำเนินการโครงการนำร่อง แก้ไขปัญหาการปล่อยน้ำทิ้งของฟาร์มสุกร Reviewed by ไชโยราชบุรี on กรกฎาคม 10, 2561 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.