สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี แนะวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคและภัยที่มากับน้ำท่วม


สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กรมควบคุมโรค เผยว่า ในช่วงนี้ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บางพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และสิ่งที่ตามมาคือโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคน้ำกัดเท้า โรคติดเชื้อ แมลงมีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าดูด เป็นต้น ซึ่งโรคติดเชื้อที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือโรคอุจจาระร่วงและโรคตาแดง

นายแพทย์สุเมธ องค์วรรณดี ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี กล่าวว่า โรคอุจจาระร่วง มีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ค้างคืน มีแมลงวันตอม การดื่มน้ำไม่สะอาดหรือมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค โดยผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงจะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า หรือถ่ายมีมูกหรือปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง อาเจียน กินอาหารไม่ได้ กระหายน้ำกว่าปกติ มีไข้สูง การป้องกันโรคให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ด้วยความร้อนและสะอาด หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังสัมผัสสิ่งสกปรก ที่สำคัญควรปฏิบัติตนให้ถูกหลักสุขอนามัย

สำหรับโรคตาแดง เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุตา ติดต่อโดยการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคตาแดง หรือน้ำสกปรกเข้าตา ซึ่งจะมีอาการตาแดง เคืองตา น้ำตาไหล เจ็บตา มักมีขี้ตามาก ตาบวม จะเป็นอยู่ประมาณ 5-14 วัน การป้องกันโรคนี้ ประชาชน ควรล้างมือด้วยน้ำและสบู่ อย่าให้แมลงหวี่หรือแมลงวันตอมตา หมั่นดูแลรักษาความสะอาดของร่างกาย เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน หากมีอาการตาแดงไม่ควรซื้อยามาหยอดเอง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที และควรหยุดเรียนหรือหยุดงานรักษาตัวที่บ้าน ไม่ควรลงเล่นน้ำในสระหรือคลอง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายในน้ำ เพราะโรคนี้อาจแพร่กระจายไปสู่คนอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเกิดจากเชื้อราจากการที่เท้าแช่อยู่ในน้ำที่สกปรกเป็นเวลานาน หรือมีความชื้นที่เท้าอยู่ตลอดเวลา เป็นอาการทางผิวหนังที่พบบ่อยในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง โดยเชื้อราจะทำให้ผิวหนังซอกนิ้วเท้าแดง ขอบนูนเป็นวงกลมและคัน หากเกา แผลจะแตกและมีน้ำเหลืองเยิ้มออกมา คำแนะนำเพื่อป้องกันโรคน้ำกัดเท้าคือ หลีกเลี่ยงการเดินในที่ที่มีน้ำท่วมขัง ถ้าจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบู๊ท และเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้งหลังขึ้นจากน้ำ และหากผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน หรือมีบาดแผล ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาก่อนลุกลาม
นายแพทย์สุเมธ กล่าวต่อไปว่า ภัยสุขภาพที่สำคัญอื่น ๆ ในช่วงน้ำท่วม คือ แมลงมีพิษกัดต่อย และไฟฟ้าดูด โดยอันตรายที่เกิดจากแมลงมีพิษกัดต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ที่หนีน้ำท่วมเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเรือน

การป้องกันควรตรวจสอบจุดต่าง ๆ ของบ้านหลังจากฝนตก หากพบเจอสัตว์มีพิษควรตั้งสติ และเรียกผู้ชำนาญมาช่วย หรือในกรณีที่ถูกงูกัด ควรจดจำลักษณะของงูว่าเป็นงูชนิดใดเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง และให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ลดการเคลื่อนไหวอวัยวะที่ถูกงูกัด และไม่ควรขันชะเนาะ เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นขาดเลือดไปเลี้ยงเกิดเป็นเนื้อตาย และห้ามกรีดแผล ดูดแผล ใช้ไฟ/ไฟฟ้าจี้ที่แผล โปะน้ำแข็ง สมุนไพรพอกแผล ดื่มสุรา กินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน ให้นำส่งสถานพยาบาลโดยเร็วที่สุด ส่วนในกรณีที่ถูกตะขาบ แมงป่องกัด ให้ทาแผลด้วยแอมโมเนียหรือครีมไตรแอมซิโนโลน หากมีอาการปวดมากหรือมีอาการแพ้ เช่น หายใจไม่สะดวก ควรรีบไปพบแพทย์

สำหรับการถูกไฟฟ้าดูด อาจทำให้บาดเจ็บรุนแรง พิการ และเสียชีวิตได้ ขอให้ประชาชนระมัดระวังและป้องกันตนเองโดยก่อนน้ำท่วมควรขนย้ายอุปกรณ์ไฟฟ้าและสิ่งของจำเป็นไว้ที่สูง และถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้าน งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด อย่าเดินลุยน้ำ ให้หาวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ลังไม้ กล่องพลาสติก เพื่อใช้เป็นทางเดินไม่ให้ร่างกายถูกน้ำ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี โทร. 032-310804 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ติดตามข่าวสารไชโยราชบุรีได้ที่ กลุ่มไชโยราชบุรี  หรือ แฟนเฟจไชโยราชบุรี
**************


















สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี แนะวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคและภัยที่มากับน้ำท่วม สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 จังหวัดราชบุรี แนะวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันโรคและภัยที่มากับน้ำท่วม Reviewed by ไชโยราชบุรี on มิถุนายน 13, 2560 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.