ฮือฮา! แห่ “ขุนเพชร ขุนพลอย” 2 ปลัดขิกยักษ์แต่งงานบนเขา เชื่อช่วยฟ้าฝนตกตามฤดูกาล


ชาวบ้านในตำบลอ่างทอง และตำบลดอนตะโก อ.เมือง จ.ราชบุรี ร่วมจัดกิจกรรมแห่ขุนเพชร ขุนพลอย หรือปลัดขิกขนาดใหญ่ ไปตามถนนในหมู่บ้าน เนื่องในงานประจำปีปิดทองสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์วัดเขาหลวง ตามความเชื่อโบราณให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาลมีความอุดมสมบูรณ์

( 10 พ.ค. 60 ) ชาวบ้านในตำบลอ่างทอง และตำบลดอนตะโก อ.เมือง จ.ราชบุรี กว่า 300 คน ได้จัดกิจกรรม ขุนเพชร ขุนพลอย หรือ ปลักขิกที่แกะด้วยไม้ขนุนขนาดใหญ่ที่สืบทอดกันมากว่า 100 ปี เพื่อขอฟ้าขอฝนให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลตามความเชื่อที่สืบทอดต่อกัน ในช่วงเทศกาลงานประจำปีปิดทองสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระพุทธรูปสมัยโบราณ ยุคกรุงศรีอยุธยา ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดเขาหลวง ให้ประชาชนได้สักการะขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล ระหว่างวันที่ 7-10 พฤษภาคม เป็นประจำทุกปี โดยวันสุดท้ายจะมีพิธีแห่ขุนเพชร ขุนพลอย ซึ่งทำด้วยไม้ขนุนขนาดใหญ่ ขึ้นประดิษฐานบนรถที่ประดับตกแต่งชุดให้ปลัดขิกคล้ายกับหญิงสาวนุ่งกระโปรง เพื่อแห่ไปตามถนนรอบหมู่บ้าน ตลาด ชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมกันถวายเงินทำบุญ

หลังจากนำขุนเพชร ขุนพลอยแห่รอบหมู่บ้านแล้ว จึงนำขึ้นสู่ศาลาเรือนหอที่เป็นศาลอยู่บริเวณกลางหุบเขา และจัดพิธีแต่งงานให้กับขุนเพชร ขุนพลอย โดยมีเครื่องไหว้ในพิธีมงคลสมรส ได้แก่ ไก่ หมู ข้าวแกง ขนมหวาน ขนมเปี๊ยะ กล้วยสุก มะพร้าวอ่อน และผลไม้มงคลอื่น ๆ พร้อมทั้งสุรา และประทัดเพื่อเป็นการฉลองมงคลสมรสให้กับขุนเพชร ขุนพลอย พร้อมทั้งใช้ผ้าสีที่ประดับผูกแต่งบริเวณศาลาที่ถูกจัดเป็นเรือนหอให้ใหม่ จากนั้นจึงนำทั้งคู่เข้าพิธีแต่งงานตามประเพณีโบราณตามความเชื่อของชาวบ้านว่า หากจัดพิธีแต่งงานเป็นไปตามประเพณีแล้ว ขุนเพชร ขุนพลอย จะบันดาลโชคให้ผู้คนที่มากราบไหว้เลื่อมใสศรัทธาจะได้อยู่เย็นเป็นสุข ข้าวปลาอาหาร ทำเกษตรกรรมอุดมสมบูรณ์ ทั้งนี้เงินที่ได้จากการทำบุญของชาวบ้านนั้นใช้เป็นสินสอดทองหมั่น เป็นเงินจำนวน 35,938 บาท จากนั้นเงินทั้งหมดนี้ก็จะนำไปถวายสมทบทุนบูรณะสร้างอุโบสถวัดใหญ่อ่างทอง ซึ่งเงินที่ได้จากการทำบุญในการแห่ขุนเพชร ขุนพลอย

นายนนท์ รอบจังหวัด กรรมการวัดใหญ่อ่างทอง เปิดเผยว่า ทางวัดกำหนดแห่ขุนเพชร ขุนพลอย ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี เป็นความเชื่อของชาวบ้านในตำบลดอนตะโก และตำบลอ่างทองมาแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย เพราะว่าขุนเพชร ขุนพลอย เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งที่ชาวบ้านในพื้นที่นับถือ มีการนำขุนเพชร ขุนพลอยไปเยี่ยมชาวบ้าน จะเกิดความเป็นสิริมงคล ทำมาค้าขายดี พืชผลการเกษตรมีความอุดมสมบูรณ์ดี เจริญรุ่งเรือง มีความเชื่อมาแต่สมัยบรรพบุรุษแล้ว และเมื่อแห่กลับมาก็จะจัดพิธีแต่งงานที่บริเวณเชิงเขาหลวง มีอาหารคาวหวาน เครื่องขันหมาก ผลไม้ เงินทอง จากประชาชนที่ร่วมทำบุญในการแห่รอบหมู่บ้านมาด้วย โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกนำเข้าวัด อีกส่วนนำไว้จัดงานพิธีแต่งงานปีหน้าต่อไป เพื่อความเป็นสิริมงคลของคนในหมู่บ้าน

สำหรับความเชื่อของชาวบ้านในชุมชนนั้น มีมาแต่สมัยบรรพบุรุษแล้ว เมื่อยามที่ฝนฟ้าแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็จะนำขุนเพชร ขุนพลอย ออกไปแห่ตามหมู่บ้านโดยแต่ก่อนจะมีการนำแมวใส่ไว้ในตะกร้าไปตามหมู่บ้าน และชาวบ้านก็จะนำผลไม้ออกมาพร้อมกับสาดน้ำเพื่อให้เกิดความร่มเย็น และก็จะพูดว่านางแมวเอ๊ยขอฟ้า ขอฝน ขอน้ำฝนรดนางแมวข้าด้วย เพื่อเป็นการขอฝน เพราะการจัดงานประจำปีเขาหลวงจะจัดช่วงส่งท้ายฤดูแล้ง ต้อนรับฤดูฝน เป็นความเป็นมาและความเชื่อของชาวบ้านในการจัดพิธีดังกล่าว เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว มีความร่มเย็น และเกิดความอุดมสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบันนี้

 
ฮือฮา! แห่ “ขุนเพชร ขุนพลอย” 2 ปลัดขิกยักษ์แต่งงานบนเขา เชื่อช่วยฟ้าฝนตกตามฤดูกาล ฮือฮา! แห่ “ขุนเพชร ขุนพลอย” 2 ปลัดขิกยักษ์แต่งงานบนเขา เชื่อช่วยฟ้าฝนตกตามฤดูกาล Reviewed by ไชโยราชบุรี on พฤษภาคม 12, 2560 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.