เตรียมความพร้อมแผนป้องกันและเผชิญเหตุโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร


วันนี้ (25 ก.ค.62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ห้องประชุมแม่กลอง ศาลากลางจังหวัดราชบุรี อ.เมือง จ.ราชบุรี นายชยาวุธ จันทร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้มอบหมายให้ นายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ประชุมร่วมกับคณะกรรมการและคณะทำงานของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจังหวัดราชบุรี เพื่อเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรได้อย่างมีประสิทธิภาพและบูรณาการประสานงานภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ในที่ประชุมได้ชี้แจงแนวทางการดำเนินการ และแนวทางการดำเนินการ ด้านการเฝ้าระวังและควบคุมป้องกัน หากเกิดเหตุแล้วจะทำการทำลายและฝังกลบซากสุกรอย่างไร รวมทั้งการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังโรคในระดับชุมชน


ทั้งนี้สืบเนื่องจากมีหนังสือจากกรมปศุสัตว์ลงวันที่ 5 ก.ค.62 ได้มีแนวทางการปฏิบัติการ กรมปศุสัตว์ตามแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และแนวทางเวชปฏิบัติของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยให้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งลงวันที่ 18 เม.ย.62 เรื่องจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และได้มีการจัดประชุมคณะกรรมการและคณะทำงานของศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 มิ.ย.62 แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการส่วนอำนวยการและคณะทำงานส่วนอื่นๆขึ้นใหม่ ดังนั้นจึงได้ปรับปรุงคำสั่งจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นศูนย์บัญชาการเหตุการณ์โรคในสุกรจังหวัดราชบุรี พร้อมจัดทำแผนป้องกันและเผชิญเหตุโรคระบาดสัตว์ชนิดในสุกรของจังหวัดราชบุรีเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบูรณาการประสานงานภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น


โดยสถานการณ์ทั่วไปโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่แพร่กระจายในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ถึงแม้ว่าโรคนี้จะไม่ใช่โรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน แต่ก็ถือว่าเป็นโรคที่สามารถส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเป็นอย่างมาก เพราะในปัจจุบันนี้ ยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและควบคุมโรค ในขณะที่เชื้อไวรัสที่ก่อโรคมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง ทำให้สุกรที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบ100% การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร มีการกระจายอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ทั้งในทวีปแอฟริกายุโรปตะวันออก ประเทศในกลุ่ม ยูเรเซีย สหภาพโซเวียตและทวีปเอเชีย ซึ่งในปีพ.ศ. 2464 มีการระบาดเกือบทุกประเทศในทวีปแอฟริกา ต่อมาพบการระบาดในทวีปยุโรปและแพร่กระจายต่อไป ยังประเทศในทวีปอเมริกากลางและใต้ พบว่าสถานการณ์ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมีความรุนแรงมากขึ้นใน 21 ประเทศ โดยเป็นประเทศในทวีปยุโรป 10 ประเทศ ทวีปแอฟริกามี 4 ประเทศ ทวีปเอเชีย 7 ประเทศ รายงานครั้งแรกในเอเชีย คือเมื่อวันที่ 3 ส.ค.61 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน แต่สำหรับประเทศไทยยังไม่มีการระบาดของโรคนี้ ซึ่งถือว่าโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคสัตว์แปลกถิ่น ซึ่งต้องมีการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์การระบาดของโรคให้ยุติลงโดยเร็วที่สุด


สำหรับสถานการณ์เฉพาะตอนนี้ของจังหวัดราชบุรี มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ภายในจังหวัดราชบุรี โดยแบ่งเป็นฟาร์มขนาดเล็ก 533 ราย จำนวนสุกร 7,803 ตัวฟาร์มขนาดกลาง 95 ราย จำนวนสุกร 18,927 ตัว ฟาร์มขนาดใหญ่ 198 ราย จำนวนสุกร 1,872,191 ตัว มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์สำหรับสุกรจำนวน 8 แห่ง ซึ่งได้วางแผนป้องกันและเผชิญเหตุโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ของจังหวัดราชบุรี โดยแบ่งภารกิจหน้าที่แก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งการปฏิบัติ การเตรียมความพร้อมทั้งกำลังพล เจ้าหน้าที่และเครื่องมืออุปกรณ์ ในระยะก่อน และหลังเผชิญเหตุการณ์ระบาดของโรค


อย่างไรก็ดีจากข้อมูลของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี ยังไม่มีการพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ที่สำคัญโรคดังกล่าวไม่ติดต่อสู่คน ส่วนการเฝ้าระวังได้มีมาตรการตั้งจุดพ่นยาฆ่าเชื้อโรครถบรรทุกสุกรที่จะเข้ามาในพื้นที่ จุดแรกตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม อ.โพธาราม และจุดที่สองบริเวณแพรกหนามแดง นอกจากนั้นยังได้จัดอบรมให้ความรู้เรื่องโรคให้แก่เกษตรกรหากพบเชื้อโรคให้แจ้งปศุสัตว์โดยด่วน และการสุ่มตรวจผักที่ตลาดค้าส่งผักของจังหวัดราชบุรีที่นำผักมาจากประเทศที่มีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเดือนละสองครั้งผลยังไม่พบเชื้อโรคแต่อย่างใด
เตรียมความพร้อมแผนป้องกันและเผชิญเหตุโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เตรียมความพร้อมแผนป้องกันและเผชิญเหตุโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร Reviewed by ไชโยราชบุรี on กรกฎาคม 25, 2562 Rating: 5

ขับเคลื่อนโดย Blogger.