เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 12 มิ.ย.62 ที่ห้องประชุมกัลปพฤกษ์ อาคารราชบุรีเกมส์ ศาลากลางจ.ราชบุรี นายชยาวุธ จันทร ผวจ.ราชบุรี ในฐานะผู้อำนวยการจ.ราชบุรี และประธานคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เก็บกู้ เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดในแม่น้ำแม่กลอง พร้อมด้วย ร.ต.อ.พิริยะ ณ บางช้าง อัยการจ.ราชบุรี ในฐานะที่ปรึกษาศูนย์บัญชาการฯ พ.อ.พิสิฐ ปั้นทอง รองผบช.มทบ.16 พ.อ.บุญญฤทธิ์ เลิศวัฒนเรืองชัย ผอ.กองกิจการพลเรือน กรมการทหารช่าง ผู้แทนสรรพาวุธทหารอากาศ (กองทำลายวัตถุระเบิด) ผู้แทนสรรพาวุธทหารเรือ (กองประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์) ผู้แทนสรรพาวุธทหารบก (กองคลังแสงที่ 6) ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ทหาร ตำรวจ และหน่วยงานท้องถิ่น ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เก็บกู้ เคลื่อนย้าย และทำลายวัตถุระเบิดในแม่น้ำแม่กลอง เพื่อหารือแนวทาง และความคืบหน้าในการจะกู้ระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในแม่น้ำแม่กลอง บริเวณใกล้สะพานจุฬาลงกรณ์ เขตเทศบาลเมืองราชบุรี เพื่อก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ช่วงข้ามแม่น้ำแม่กลอง โดยผวจ.ราชบุรี ให้สื่อมวลชนที่รอทำข่าวบันทึกภาพก่อน จากนั้นไม่อนุญาตให้เข้ารับฟังการประชุม
จากนั้นเวลา 15.40 น. ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจ.ราชบุรี นายชยาวุธ จันทร ผวจ.ราชบุรี ได้แถลงผลการประชุมว่าที่ประชุมคณะทำงานเก็บกู้วัตถุระเบิดใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ ได้ประชุมพิจารณาวิธีการเก็บกู้ ซึ่งมีแนวทางวางไว้ 5 วิธีการ หลังมีการประชุมแล้วคณะทำงานเก็บกู้วัตถุระเบิดได้ตัดสินใจเลือกแนวทางที่ 5 ซึ่งเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูงสุด โดยเป็นวิธีการใช้เครื่องมือ Water cutting Machine ซึ่งเป็นเครื่องตัดด้วยน้ำแรงดันสูง เข้าไปตัดที่ท้ายชนวนของลูกระเบิด เพื่อตัดชนวนออกและจึงยกตัวระเบิดขนาด 1,000 ปอนด์ ขึ้นไปทำลายที่คลังแสง 6 ของกรมสรรพาวุธทหารบก ต.อ่างทอง อ.เมืองราชบุรี โดยหลังตัดชนวนออกแล้วลูกระเบิดก็ไม่มีอันตรายใดๆ วิธีทำลายตัวระเบิดก็จะใช้วิธีทำลายด้วยการเอาดินปืนออกมาตัวลูกระเบิด ส่วนตัวปลอกลูกกระสุนจะจัดเก็บไว้ที่พิพิธพันธ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จ.ราชบุรี ส่วนตัวเครื่องมือ Water cutting Machine ทางจ.ราชบุรี ไม่มีเครื่องมือดังกล่าว ทางกองทัพเรือมีใช้อยู่ แต่ใช้ตัดชนวนระเบิดบนบก แต่ระเบิดที่ราชบุรี เราต้องทำการลงไปตัดใต้น้ำ ทางผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ได้พูดถึงการเก็บกู้วัตถุระเบิดที่ราชบุรีว่า ไม่ควรที่จะทำการเคลื่อนย้าย เพราะเนื่องจากระเบิดดังกล่าวเป็นระเบิดแบบตั้งเวลา ที่ใช้กรดมากัดแผ่นพลาสติกที่เป็นตัวกั้นระหว่างตัวจุดระเบิดกับดินระเบิด เพราะฉะนั้นถ้ามีการเปลี่ยนแปลงองศาเคลื่อนย้ายมีความเสี่ยงสูง ที่อาจจะเกิดระเบิดขึ้นมาได้โดยที่ไม่มีใครคาดคิด เพราะฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยที่สุดจะต้องทำการตัดวงจรชนวนระเบิดใต้น้ำ ซึ่งอุปกรณ์นี้ทางจังหวัดราชบุรีเราไม่มี เพราะไม่เคยมีการเก็บกู้ใต้น้ำมาก่อน จะต้องขอตั้งงบประมาณผ่านงบป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย กระทรวงมหาดไทย ไปยังรัฐบาล ในกรณีถ้าเกิดทางกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าในขอบข่ายของการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย คงจะต้องเสนอขอให้ทางรัฐบาลใช้เงินงบกลางในการจัดซื้ออุปกรณ์ตัวดังกล่าว รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการเก็บกู้วัตถุระเบิด เรื่องเบี้ยเลี้ยงเจ้าหน้าที่ เรื่องของการอพยพของประชาชน และเรื่องของโรงครัวที่ไว้ดูแลประชาชนที่อพยพและเจ้าหน้าที่ที่ทำการเก็บกู้วัตถุระเบิด รวมถึงการดูแลเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ที่ค่อยดูแลทรัพย์สินของประชาชน เราให้เวลาประมาณ 2 เดือนให้หน่วยที่เกี่ยวข้องคำนวณค่าใช้จ่าย แล้วจึงจะมีการประชุมเพื่อสรุปยอดค่าใช้จ่ายอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จังหวัดจะนำเสนองบประมาณผ่านกระทรวงมหาดไทย ไปสู่รัฐบาล คาดว่าจะสามารถกู้ระเบิดได้คือปี 2563 แน่นอน แต่จะกลางปีหรือท้ายปี 2563 เท่านั้น
ผวจ.ราชบุรี กล่าวอีกว่าส่วนการทางรถไฟ ผู้แทนการรถไฟได้แจ้งว่า เขาคงไม่รอถึงการเก็บกู้ระเบิดแล้วเสร็จแน่นอน เพราะเนื่องจากดูแล้วยังไม่มีความแน่นอนในเรื่องของการเก็บกู้ระเบิดได้เมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นทางการรถไฟได้มีการเตรียมการออกแบบเป็นสะพานแบบสะพานแขวน ซึ่งเราก็ตั้งขอสังเกตไว้ว่า 1.ตรงนั้นใกล้กับเขตของกรมการทหารช่าง 2.ใกล้กับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง 3.ตีคู่กับสะพานจุฬาลงกรณ์ ที่เป็นสะพานเก่าแก่ตั้งแต่ปี 2444 เป็นจุดแลนด์มาร์คของจ.ราชบุรี เพราะฉะนั้นสถาปัตยกรรมต้องมีความกลมกลืม ถ้าเป็นรูปแบบสมัยใหม่เกิดไปอาจจะเป็นแลนด์มาร์ดใหม่ของเมืองเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นต้องคำนึงถึงมุนมองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองราชบุรี เป็นเขตอนุรักษ์เมืองเก่า ซึ่งเป็นมติ ครม.ว่าโครงการก่อสร้างของทางราชการจะต้องมีความเห็นชอบจากคณะกรรมการอนุรักษ์เมืองเก่า ได้เสนอไปแล้วว่าควรจะได้มีเวทีประชาคมของการก่อสร้างทางรถไฟ ได้มีรูปแบบเบื้องต้นจะมีการมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนชาวราชบุรี และคณะกรรมอนุรักษ์เมืองเก่าของเราก่อน สรุปเรื่องรถไฟรางคู่รอเรื่องระเบิดไม่ได้เขาต้องมีการปรับรูปแบบเพื่อให้ตรงกับสัญญาของการรถไฟ ส่วนงบประมาณถ้ารถไฟทำเป็นสะพานแขวนแล้ว จะจ่ายงบประมาณหรือไม่ อันนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาเพราะว่าการรถไฟเขาไม่ต้องรอแล้วเขาก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายก็ได้ แต่ถ้าเขาจะจ่ายเราก็ยินดีรับ ถ้าการรถไฟไม่จ่ายเราก็วางแผนไว้แล้วว่า เราจะเสนองบผ่านกระทรวงมหาดไทย เพราะเราตีความว่ามันเป็นภัยทางอากาศ ซึ่งน่าจะเข้าข่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย แต่ถ้าเกิดไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย เราก็จะเสนอเป็นงบกลางจากทางรัฐบาล เพราะที่ประชุมมีความชัดเจนว่า ถึงแม้การทางรถไฟจะมีการสร้างสะพานแขวน ไม่ต้องกู้ระเบิดก็ได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้ามีการสำรวจแล้วรู้ว่ามีระเบิดอยู่ อย่างไรก็ต้องกู้ แต่จะกู้ช้ากู้เร็วอันนี้ก็อยู่ที่ความพร้อมที่สุด ปลอดภัยที่สุด ทั้งชีวิตของเจ้าหน้าที่ ของทรัพย์สินพี่น้องประชาชน และที่สำคัญสะพานจุฬาลงกรณ์ เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่ง ล่องใต้เพียงเส้นเดียวเท่านั้นไม่มีเส้นทางอื่นถ้าเกิดเสียหายไปก็จะเรื่องใหญ่ เราจะให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นไม่ได้
กู้ระเบิดต้องรอปี 63 ใช้วิธีตัดชนวนในน้ำก่อนขนขึ้นบกทำลาย
Reviewed by ไชโยราชบุรี
on
มิถุนายน 12, 2562
Rating: