ความคืบหน้ากระถางเซรามิกรูปทรงต่าง ๆ ที่จะใช้ประดับพระเมรุมาศ เเละอาคารสำคัญในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ
กระถางเซรามิกรูปทรงต่าง ๆ ที่จะใช้ประดับพระเมรุมาศ เเละอาคารสำคัญในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฝีมือ นายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ (ติ้ว) ศิลปาธรสาขาการออกเเบบ ปี 2553 ทายาทรุ่นที่สามของ "เถ้าฮงไถ่" โรงงานผลิตโอ่งมังกรรายแรกและรายใหญ่แห่งจังหวัดราชบุรี ซึ่งเขามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนให้จังหวัดราชบุรี หรือเมืองโอ่งมังกร ให้เป็น "เมืองศิลปะ" ที่ได้ร่วมกับช่างปั้นในโรงงานเซรามิกเถ้าฮงไถ่ พร้อมด้วยศิลปินชาวจังหวัดราชบุรี นักออกแบบ นักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งได้ร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะเซรามิก เพื่อใช้ประดับพระเมรุมาศ เเละอาคารสำคัญในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ทั้งนี้ทางกรมศิลปากร ได้มอบหมายให้โรงงานเซรามิค เถ้าฮงไถ่ จังหวัดราชบุรี ผลิตกระถทางใหญ่ลายเลข 9 ประดับภูมิสถาปัตย์โดยรอบพระเมรุมาศ ขณะที่กระถางชุดพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ตราจักรี ประดับอาคารสำคัญ ยีดแบบงาน 200 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ ด้านนางเหมือนแก้ว จารุดุล วชิระเธียรชัย ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กล่าวว่า กระถางประกอบพระราชพิธีครั้งนี้ ขนาดและรูปทรงกำหนดโดยกรมศิลปากร ขณะที่ลวดลายมอบหมายให้นายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทโรงงานเซรามิกเถ้าฮงไถ่ และผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเซรามิก ร่วมออกแบบและผูกลายออกมา โดยคณะกรรมการฝ่ายจัดสร้างพระเมรุมาศได้พิจารณาและสรุปลวดลายใช้ประดับกระถางแล้วบางส่วน โดยกระถางขนาดใหญ่สำหรับประดับรอบงานภูมิสถาปัตย์จะมีลวดลายเลข ๙ ใช้เลขไทย ซึ่งต้นแบบมาจากรูปทรงคันนาเลข ๙ ที่จะสร้างด้านหน้าพระเมรุมาศทางทิศเหนือ นอกจากนี้ จะมีกระถางวีไอพีพิเศษ ซึ่งมีรูปแบบเดียวกับกระถางที่เคยประดับภายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อครั้งงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี และประดับ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อครั้งจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีรูปทรงกลมและทรงปากกว้าง
กระถางที่ใช้ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจะมีการปรับขนาดเพื่อความเหมาะสม แต่คงลวดลายเดิมไว้ มี 2 รูปแบบ คือมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ภปร และอีกแบบมีตราราชวงศ์จักรี ส่วนลวดลายประกอบทางโรงงานได้คิดลายดอกเบญจมาศขึ้นมา มีการลงสี 5 สี อ้างอิงต้นแบบจากเครื่องเซรามิกอิตาลี ซึ่งรัชกาลที่ 5 สั่งนำเข้ามาในสยาม โดยกระถางวีไอพีจะใช้ประดับอาคารสำคัญ พระที่นั่งทรงธรรมและพลับพลายกสนามหลวง ซึ่งเป็นบริเวณที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยแนวคิดในงานภูมิสถาปัตยกรรมยึดหลักความพอเพียงและสมพระเกียรติ คาดว่าจะใช้กระถางรวมจำนวน 250 ใบ
นายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของเถ้าฮงไถ่ กล่าวถึงรูปแบบของกระถางเซรามิกในงานสำคัญครั้งนี้ว่ามีทั้งหมด 8 รูปแบบ ได้แก่ กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดเล็ก(ทรงตรง) ประดับสัญลักษณ์เลข ๙, กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดกลาง (80 cm) ประดับสัญลักษณ์เลข ๙, กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดกลางติดลายนูน, กระถางเก้าเหลี่ยมขนาดใหญ่ (100 cm) ประดับสัญลักษณ์เลข ๙, กระถางเก้าเหลี่ยมลายคราม, กระถางทรงกลม ตามแบบกระถางในงานฉลอง 60 ปี แห่งการครองราชย์, กระถางหูสิงห์ ประดับอักษรพระปรมาภิไธย ภปร – ตราจักรี, กระถางเขามอ และมีส่วนประกอบเพิ่มเติมคือกี๋หรือฐานรอง ซึ่งกระถางทุกแบบได้แฝงสัญลักษณ์เพื่อน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยสัญลักษณ์สำคัญอย่างแรกคือเลข 9 ปกติกระถางทั่วไป จะมีแค่หกเหลี่ยมหรือแปดเหลี่ยม แต่กระถางในงานพระราชพิธี สำคัญครั้งประวัติศาสตร์ จึงเลือกที่จะทำเป็นกระถางทรง 9 เหลี่ยม ซึ่งเป็นแบบที่ทำยาก ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพื่อต้องการทำเฉพาะสำหรับในหลวงรัชกาลที่ 9 เท่านั้น
นอกจากนี้ก็ในส่วนของลวดลายที่ประดับบนกระถางเซรามิก ก็ยังแฝงความหมายที่ลึกซึ้งน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน ไม่ว่าจะเป็น “ดอกดาวเรือง” ที่สื่อถึงความหมายแทนความหมายถึงความรักที่พระองค์ท่านทรงมีต่อพสกนิกรไทย และความรักที่เป็นนิรันดร์ที่พสกนิกรไทยมีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งในดอกดาวเรืองแต่ละดอกจะมี 90 กลีบ แทนความรักที่ส่งต่อจากในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่รัชกาลที่ 10 สำหรับกระถางเก้าเหลี่ยมขนาดใหญ่จะมีดอกดาวเรือง 9 ดอก ขนาดกลางและเล็ก 18 ดอก ตรงลายก้านดอกดาวเรือง จะมีเลข 9 เป็นลายขดซ่อนอยู่ นอกจากนี้จะมีรูปกระต่าย 5 ตัว กระต่ายแทนปีเสด็จพระราชสมภพ และเลข 5 แทนวันพระบรมราชสมภพวันที่ 5 ธันวาคม อยู่ในลายของกระถางด้วย
ขอขอบคุณรูปภาพจาก NOW 26
ความคืบหน้ากระถางเซรามิกรูปทรงต่าง ๆ ที่จะใช้ประดับพระเมรุมาศ เเละอาคารสำคัญในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงฯ
Reviewed by ไชโยราชบุรี
on
สิงหาคม 28, 2560
Rating: