กรมการทหารช่าง ประกอบพิธีรำลึกพระเกียรติคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ผู้ทรงเป็นอุปถัมภกของหน่วยทหารในค่ายภาณุรังษี มาเป็นระยะเวลานาน
ทั้งนี้วันที่ 13 มิ.ย.62 ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของ จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ผู้ทรงเป็นอุปถัมภกของหน่วยทหารในค่ายภาณุรังษี มาเป็นระยะเวลานาน และเพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระเกียรติคุณ และพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน กรมการทหารช่าง จึงได้ประกอบพิธีวางพวงมาลาเนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ ครบครอบ 91 ปี ของ จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช โดยมี พลโท อนุสรณ์ ปัญญะบูรณ์ เจ้ากรมการทหารช่าง เป็นประธานกล่าวสดุดี และวางพวงมาลา ของ กรมการทหารช่าง จากนั้นเป็นการวางพวงมาลาของ ผู้บัญชาการกองพลทหารช่าง , ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 16 , รองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารช่าง กรมการทหารช่าง , ผู้บังคับการ กรมทหารช่างที่ 11 , ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ 21 , ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 111 กรมทหารช่างที่ 11 , ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 602 กรมทหารช่างที่ 11 , ผู้บังคับกองพันทหารช่างเครื่องมือพิเศษ กองพลทหารช่าง , ผู้บังคับกองพันทหารช่างที่ 51 , ผู้บังคับกองพันบริการ กองบริการ กรมการทหารช่าง และผู้บังคับกองพันนักเรียน โรงเรียนทหารช่าง กรมการทหารช่าง ณ สโมสรนายทหารสัญญาบัตรค่ายภาณุรังษี ตำบลโคกหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี
สำหรับพระประวัติ จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์ วงศ์วรเดช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 4 และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ประสูติเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2402 ณ พระตำหนักเดิมหลังนอก ซึ่งเป็นที่ตั้งหมู่ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงมีพระนามเดิมว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์” พระองค์เป็นพระอนุชาร่วมอุทรกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระองค์ทรงเริ่มศึกษาภาษาไทย ตั้งแต่พระชันษาได้ 8 ปี ต่อมาทรงศึกษาหนังสือขอม ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ รวมทั้งทรงศึกษาแบบอย่างราชการ การทหาร แบบธรรมเนียม พระราชประเพณี สถาปัตยกรรม การปกครอง การต่างประเทศ จึงทำให้ทรงพระปรีชาสามารถ รอบรู้มีพระอัจฉริยะภาพ ทรงประกอบพระราชกิจในด้านต่าง ๆ จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เลื่อนตำแหน่งชั้นยศ ทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน สูงขึ้นเป็นลำดับ อาทิ ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงยุทธนาธิการ ทรงเป็นจอมพลทหารบกและจอมพลทหารเรือ ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นต้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จ
พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในกรณีที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ หรือกรณีที่ทรงเสด็จประพาสหัวเมืองต่าง ๆ ทรงไว้วางพระราชหฤทัย สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ทรงปฏิบัติหน้าที่ด้านการบริหารราชการแผ่นดินแทนองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เป็นอย่างดี
สำหรับอนุสรณ์นามค่ายภาณุรังษี นั้น พระองค์ทรงดำรงค์เป็น “นายพันเอกพิเศษ” อยู่ในกรมทหารหน้า ซึ่งเป็นต้นรากของกรมทหารบกราชที่ 4 ราชบุรี มาตั้งแต่พุทธศักราช 2421 และในพุทธศักราช 2454 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงค์ ตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารบกราบที่ 4 คิดเป็นเวลาที่ทรงเป็นนายทหารผู้ใหญ่อยู่ในกรมนี้ถึง 50 ปีเต็ม ระหว่างเวลา 50 ปี นั้น ได้ทรงทำนุบำรุงกรมทหารบกราบที่ 4 ซึ่งตั้งอยู่ที่ค่ายราชบุรีนี้ ให้เจริญก้าวหน้ามากมาย ทำให้ทหารมีโรงทหารสำหรับ กิน อยู่ หลับนอน สะดวกสบายทันสมัย และได้ทรงมีความอุตสาหะเสด็จมาฉลองโล่ และพระราชทานพระโอวาท ด้วยพระองค์เองเกือบทุกปี เว้นแต่ที่มีพระภาระอย่างอื่น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามค่ายทหารราชบุรีแห่งนี้ว่า “ค่ายภาณุรังษี” เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2507 เพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับพระองค์ผู้ทรงเป็นอุปถัมภกหน่วยทหารในค่ายนี้มาเป็นเวลานาน พระองค์ทรงเป็นต้นราชสกุล “ภาณุพันธุ์” เสด็จทิวงคตเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พุทธศักราช 2471 ขณะพระชันษาได้ 69 ปี ณ วังบูรพาภิรมย์
ทหารช่างราชบุรีประกอบพิธีรำลึกพระเกียรติคุณ จอมพลสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ
Reviewed by ไชโยราชบุรี
on
มิถุนายน 13, 2562
Rating: