ต้องเคลื่อนไป 1 กิโลเมตรในน้ำลึก 10 เมตร แผนการกู้ระเบิดสงครามโลกใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ร่วมกับผู้บัญชาการมณฑลบกที่ 16 เผย เตรียมดำเนินการเก็บกู้เคลื่อนย้ายระเบิดสงครามโลก คาดประมาณเดือนพฤษภาคมนี้
เวลา 18.00 น. วันที่ 11 เม.ย.62) ที่หอศิลป์ดีคุ้น เขตเทศบาลเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าเตรียมแผนการเก็บกู้เคลื่อนย้าย และทำลายระเบิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ในแม่น้ำแม่กลอง เพื่อเปิดทางในการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ที่ตัดผ่านบริเวณดังกล่าวว่า ได้มีการประเมินการเคลื่อนย้ายระเบิดจะต้องห่างจากสะพานไปประมาณ 1 กิโลเมตร เพราะมีระเบิดอยู่จำนวน 7 ลูก โดยวันที่ 19 เมษายน ได้นัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่โรงแรม ณ เวลา เพื่อกำหนดการสำรวจเพิ่มเติมและกำหนดวัน เวลาที่เหมาะสม อีกทั้งระหว่างนี้ หน่วย อีโอดีที่มีหน้าที่กู้ระเบิดนั้นติดภารกิจสำคัญอยู่ที่กรุงเทพฯในงานพระราชพิธี หลังจากเสร็จภารกิจสำคัญก็จะเดินทางมาร่วมงานเก็บกู้ระเบิดที่ราชบุรี ซึ่งประเมินว่าจะเริ่มสำรวจเพิ่มเติมในเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคมคาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการได้
พลตรีวสันต์ ทัพวงศ์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 16 เปิดเผยว่า วันที่ 19 เมษายน จะเป็นการประชุมเพื่อกำหนดวันที่สำรวจเพิ่มเติมและซ้อมแผนการเก็บกู้ โดยชุดที่จะทำการเก็บกู้ระเบิดจะเป็นชุดประดาน้ำและทำลายวัตถุระเบิดใต้น้ำ โดยการสำรวจแนวทางในที่ประชุมตกลงกันว่าจะเคลื่อนย้ายโดยที่ให้ระเบิดอยู่ใต้น้ำลึกจากผิวน้ำประมาณ 10 เมตร กรณีที่มีข้อผิดพลาดถ้าระเบิดเกิดระเบิดขึ้น ความรุนแรงของระเบิดจะลดน้อยลง จะมีรัศมีของสะเก็ดระเบิดถ้าอยู่ใต้ผิวน้ำประมาณ 300 เมตร อาจจะเป็นสะเก็ดระเบิดที่มีชิ้นขนาดเล็กไม่อันตราย ยกเว้นคนที่อยู่ในรัศมีประมาณ 100 - 200 เมตร จำเป็นต้องสำรวจให้ละเอียดรอบคอบบริเวณท้องน้ำในการที่จะเคลื่อนย้ายระเบิดไปจุดบริเวณคุ้งน้ำห่างจากสะพานไปประมาณ 1 กิโลเมตร ตรงบริเวณนั้นจะนำลูกระเบิดไปพัก โดยจะมีวิธีการขุดลงไปในพื้นท้องน้ำลึกประมาณ 5 เมตร กว้างประมาณ 11 เมตร จะทำลายโดยใช้เครื่องเจาะที่ชนวนท้ายระเบิด พอทำลายตรงชนวนเรียบร้อยแล้ว จึงจะเคลื่อนย้ายตัวระเบิดไปทำลายอีกครั้ง สำหรับการเคลื่อนย้ายจะเคลื่อนย้ายทีละ 1 ลูก ส่วนการที่ไม่ทำลายระเบิดจุดที่พบนั้น เพราะว่ามีระเบิดอยู่ 7 ลูก มีโอกาสที่อาจเกิดข้อผิดพลาดอาจจะเกิดการระเบิดพ่วง คือ ระเบิดลูกที่ 1 ก็จะไปทำปฏิกิริยากับระเบิดลูกที่ 2 และลูกใกล้เคียง
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ทำระเบิดให้หมดสภาพเรียบร้อยแล้วก็จะยกขึ้นและขนย้ายไปทำลายอีกครั้ง จังหวัดเป็นห่วงความปลอดภัยประชาชนชาวราชบุรี ทั้งคำนึงความเสียหายทรัพย์สินของประชาชนเป็นหลัก ทำให้การดำเนินการจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาที่ให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด
ส่วนทางด้าน นายเดชา เรืองอ่อน รักษาราชการแทนหัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เปิดเผยว่า จะมีแผนอพยพประชาชนตั้งแต่จุดตรงบริเวณสะพานธนะรัชต์ ที่อยู่เคียงคู่กับสะพานจุฬาลงกรณ์ จะอพยพประชาชนให้ห่างจากรัศมีประมาณ 1 กิโลเมตร เนื่องจากจุดนั้นมีระเบิดจำนวน 7 ลูก อาจจะต้องอพยพพี่น้องประชาชนทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำแม่กลอง เบื้องต้นขณะนี้ได้ประสานกับเทศบาลเมืองราชบุรี และเทศบาลหลักเมืองทำแผนไว้แล้วว่าจะอพยพประชาชนไปจุดไหนบ้าง เมื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนจะแจ้งให้ชุมชนที่เกี่ยวข้องอพยพประชาชนในรัศมีแค่ไหน โดยจะขอรอความชัดเจนจากผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยอีโอดีของทหารเรือ ทหารอากาศ ที่จะแจ้งรายละเอียด โดยการอพยพจะทำเป็นช่วงๆ ขณะเจ้าหน้าที่มีการปฏิบัติงาน และหลังจากที่ทำงานจบเป็นช่วงๆก็สามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย..
แผนกู้ระเบิดสงครามโลกไม่ได้เงียบ เตรียมแผนเก็บกู้พฤษภาคมนี้
Reviewed by ไชโยราชบุรี
on
เมษายน 11, 2562
Rating: