จากกรณีเมื่อช่วงบ่าย ๆ ถึงดึก ของวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ของจังหวัดราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง เป็นช่วงเดียวกับที่ ช่างภาพ ชื่อคุณ Chad Chuenyoo ซึ่งเป็นชาวอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ได้เดินทางไปเก็บภาพฝนฟ้าคะนอง บริเวณ ใกล้ ๆ กับจุดชมวิวของวัดถ้ำเขาน้อย อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ซึ่งห่างจากจังหวัดราชบุรี เพียงไม่กี่กิโลเมตร
ทั้งนี้ ผู้ถ่ายภาพ ถ่ายภาพไปเรื่อย ๆ ระยะเวลาไม่นาน ก็ได้ปรากฎภาพอันน่าตื่นเต้น เมื่อ เกิดพายุงวงช้างเกิดขึ้น บริเวณนั้น พร้อมกับคำบรรยายภาพว่า " เกิดพายุงวงช้าง 2 ลูก พร้อม ๆ กัน ลูกแรกเกิดทางทิศเหนือซึ่งค่อนข้างไกลแต่แอดใช้เลน 70 - 200 ซูมไปที่ 200 มม.ถ่ายไว้ได้ อีกลูกเกิดทางทิศตะวันออก ลูกนี้ใกล้มากน่าจะก่อตัวลงพื้นแถวอำเภอท่าม่วง ปรากฏการณ์นี้ใช้เวลาไม่นานก็สลายตัว เป็นประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิต ที่เห็น 2 ลูกพร้อมๆกัน"
สำหรับพายุงวงช้าง ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เท่าที่เติบโตมา ยังไม่เคยพบเหตุการณ์ลักษณะนี้ ในพื้นที่จ.ราชบุรี เลย (เท่าที่จำความได้)
ลักษณะการเกิด "พายุงวงช้าง" หรือ "นาคเล่นน้ำ" มี 2 แบบ ได้แก่
1. เป็นพายุทอร์นาโด ที่เกิดขึ้นเหนือผืนน้ำ (ซึ่งอาจจะเป็นทะเล ทะเลสาบ หรือแอ่งน้ำใดๆ) โดยพายุทอร์นาโดจะเกิดขึ้นระหว่างที่ฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก เรียกว่า พายุฝนฟ้าคะนองแบบซูเปอร์เซลล์ (Supercell thunderstorm) และมีระบบอากาศหมุนวนที่เรียกว่า เมโซไซโคลน (Mesocyclone) จึงเรียกพายุนาคเล่นน้ำแบบนี้ว่า นาคเล่นน้ำที่เกิดจากทอร์นาโด (Tornado waterspout)
2. เกิดจากการที่มวลอากาศเย็น เคลื่อนผ่านเหนือผิวน้ำที่อุ่นกว่า โดยบริเวณใกล้ๆ ผิวน้ำมีความชื้นสูง และไม่ค่อยมีลมพัด (หรือถ้ามีก็พัดเบาๆ) ผลก็คืออากาศที่อยู่ติดกับผืนน้ำซึ่งอุ่นในบางบริเวณจะยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้อากาศโดยรอบไหลเข้ามาแทนที่ จากนั้นจึงพุ่งเป็นเกลียวขึ้นไป แบบนี้เรียกว่า "นาคเล่นน้ำ" (True waterspout) ซึ่งมักเกิดในช่วงอากาศดีพอสมควร (fair-weather waterspout) อาจเกิดได้บ่อย และประเภทเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากในช่วงที่เกิดมักจะมีพายุฝนฟ้าคะนองร่วมอยู่ด้วย
แต่ความแตกต่างของ 2 แบบนี้ก็คือ นาคเล่นน้ำที่เกิดจากทอร์นาโดจะเริ่มจากอากาศหมุนวน (ในบริเวณเมฆฝนฟ้าคะนอง) แล้วหย่อนลำงวงลงมาแตะพื้น คืออากาศหมุนจากบนลงล่าง ส่วนนาคเล่นน้ำของแท้จะเริ่มจากอากาศหมุนวนบริเวณผิวพื้นน้ำ แล้วพุ่งขึ้นไป คืออากาศหมุนจากล่างขึ้นบน ในช่วงที่อากาศพุ่งขึ้นเป็นเกลียววนนี้ หากน้ำในอากาศยังอยู่ในรูปของไอน้ำ เราจะยังมองไม่เห็นอะไร แต่หากอากาศขยายตัวและเย็นตัวลงถึงจุดหนึ่ง ไอน้ำก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำจำนวนมาก ทำให้เราเห็นท่อหรือ "งวงช้าง" เชื่อมผืนน้ำและเมฆ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "พายุงวงช้าง"
โดยส่วนใหญ่มีความยาวประมาณ 10 - 100 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมีตั้งแต่ 1 เมตร ไปจนถึงหลาย 10 เมตร โดยในพายุอาจมีท่อหมุนวนเพียงท่อเดียวหรือหลายท่อก็ได้ แต่ละท่อจะหมุนด้วยอัตราเร็วในช่วง 20-80 เมตรต่อวินาที กระแสลมในตัวพายุเร็วถึง 100 - 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอาจสูงถึง 225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถคว่ำเรือเล็กๆ ได้สบาย ดังนั้น ชาวเรือควรสังเกตทิศทางการเคลื่อนที่ให้ดี แล้วหนีไปในทิศตรงกันข้าม นอกจากนี้ พายุชนิดนี้ยังสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วตั้งแต่ 3 - 130 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ส่วนใหญ่จะเคลื่อนที่ค่อนข้างช้าประมาณ 18 - 28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ พายุนี้มีอายุไม่ยืนยาวนัก คืออยู่ในช่วง 2 - 20 นาที จากนั้นก็จะสลายตัวไปในอากาศอย่างรวดเร็ว
ตื่นตาช่างภาพเมืองโอ่ง จับภาพพายุงวงช้างคล้ายทอร์นาโดได้ ใกล้ ๆ ราชบุรี
Reviewed by ไชโยราชบุรี
on
พฤษภาคม 26, 2560
Rating: